6.29.2554

M&M's

    สัปดาห์นี้ขยันอัพเดทบล็อกเป็นพิเศษ เพราะว่าเมื่อสองวันก่อนพึ่งจะเขียนตอนใหม่ของคันจุ๊อั๋นเกินพิกัดเสร็จ (สำหรับคนที่อยากอ่านลิงค์อยู่ที่ด้านขวาคำว่า JakaruuTH) วันนี้นั่งว่างๆ ก็เลยมาอัพบล็อก Retronoob อีกแล้ว เนื่องจากช่วงนี้ไม่มีอารมณ์จะเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ผมก็เลยว่าจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องอื่น (อีกแล้ว) จริงๆ แล้วก็จัดว่าเป็นเกมอย่างหนึ่ง ที่เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะไม่ได้ค่อยสังเกตกันก็ตาม เกมนั้นอธิบายง่ายๆ ก็คือ


    


    "ผมชอบเอ็มแอนด์เอ็มส์สีส้ม " 

    "ปีโป้สีม่วง"

    "คันจุ๊ไม่กินเจลลี่แบร์สีเหลือง"

    ในขนมหลอกเด็กถุงหนึ่งที่มีขนมหลายๆ เม็ดหลายๆ สี บางทีเราก็อาจจะชอบสีใดสีหนึ่ง ผมไม่รู้ว่าสีที่ชอบนี้มันเกิดมาจากไหน แต่ว่ามันส่งผลต่อการบริโภคของผมพอสมควร นอกจากนั้นความรู้สึกว่าสีใดสีหนึ่งมีความพิเศษ บางครั้งก็เป็นการอุปโลกไปเอง ยกตัวอย่างเช่น ทุกครั้งที่ผมกินเอ็มแอนด์เอ็มส์สีส้ม ผมก็จะรู้สึกได้กลิ่นส้มจางๆ ลอยมาในอากาศ ทั้งๆ ที่ถ้าใครเคยลองกินเอ็มแอนด์เอ็มส์แต่ละสีเทียบกัน จะรู้สึกเลยว่า แต่ละสีนั้นไม่มีรสชาติต่างกันเลย (เชื่อเลยว่าจากนี้เป็นต้นไป คนอ่านบล็อกบางคนจะติดโรคอุปโลก ได้กลิ่นส้มเวลากินเอ็มแอนด์เอ็มส์สีส้มเหมือนกัน)

    สำหรับปีโป้สีม่วงหรือการที่คันจุ๊ไม่ชอบหมีสีเหลืองยังพอมีเหตุผลรองรับได้อยู่ เพราะว่าทั้งสองอย่างมีการผสมกลิ่นผลไม้ที่แตกต่างกันอยู่ แต่สาเหตุที่ผมชอบกินปีโป้สีม่วงค่อนข้างจะงี่เง่า เพราะ ผมไม่ได้อยากกินเพราะว่ารสชาติของสีม่วงอร่อยกว่าสีอื่นๆ นอกจากนั้นยังแอบรู้สึกว่ากลิ่นองุ่นของสีม่วงมันออกจะเหม็นๆ ด้วยซ้ำ แต่ที่ผมชอบกินเป็นเพราะ สีม่วงเป็นสีที่หายากที่สุด และมีน้อยที่สุดในซองปีโป้ซองใหญ่ๆ (มาจากการสังเกตล้วนๆ ไม่มีหลักฐานใดๆ มายืนยัน) ส่วนเหตุผลที่คันจุ๊ไม่ยอมกินหมีสีเหลือง คันจุ๊ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนเลย หมีสีเหลืองรสชาติเหมือนกับยาแก้ไข้เด็ก

    มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับหมีสีเหลืองคือ วันนึงผมซื้อเจลลี่แบร์ถุงใหญ่มากินกับคันจุ๊ หลังจากที่คันจุ๊ประกาศว่า หมีสีเหลืองรสชาติเหมือนยาแก้ไข้ แล้วทั้งสองคนก็ไม่มีใครยอมกินหมีสีเหลือง สุดท้ายสองคนก็เลือกกินหมีสีอื่นจนหมด เหลือแต่หมีสีเหลืองไว้ในถุง กลายเป็นสุสานหมีสีเหลือง (ถ้าใครนึกไม่ออกว่าน่ากลัวยังไง ลองนึกภาพถุงที่เต็มไปด้วยของที่คุณเกลียดเต็มถุงดู เป็นอย่างนั้นแหละ)

   

6.23.2554

จุดเปลี่ยน (ประมาณปี 1996)

    วันนี้เราจะมาเขียนบล็อกเวิ่นเว้อรำลึกความหลังเกี่ยวกับอนิเมะไปเรื่อยๆ ไอเดียของบล็อกตอนนี้เริ่มมาจากเข้าไปอ่านกระทู้จากเว็บที่คุณก็รู้ว่าเว็บอะไร (หา! ไม่รู้หรอ เว็บนั้นไงเล่า เว็บนั้น) เจอคำถามประมาณว่า การ์ตูนเซอร์วิสเรื่องแรกคือเรื่องอะไร มีคนมาตอบน่าเชื่อมั่ง ไม่น่าเชื่อมั่ง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของคนเขียนคอบร้า เห่าสายฟ้า (ดัชนีชี้วัดความแก่) หรือว่าโดราเอมอน ฯลฯ

    ผมก็มานั่งคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ดู แต่ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่าความแม่นยำของผมในเรื่องอนิเมะต่ำมากๆ เพราะผมห่างเหินจากการนั่งดูอนิเมะไปหลายปี เนื่องจากสาเหตุหลายประการ แต่สาเหตุที่สำคัญที่สุดคือ ผมย้ายบ้านตอนป. 6 ออกมาชานเมืองสุดแสนทุรกันดาร ในที่ที่ไม่สามารถรับช่อง 9 อสมท. ได้ (ถึงแม้จะยังอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ก็เถอะ) เลยทำให้พลาดดูช่อง 9 การ์ตูนไปหลายปี ผมก็เลยแทบจะเลิกดูการ์ตูนเลยนับตั้งแต่นั้น (แต่ว่ายังได้นั่งดูชินจังกับมารุโกะจากช่อง 3 บ้างเป็นครั้งคราว) 

     จนมาเมื่อปีที่แล้ว (2010) ผมพึ่งจะมีโอกาสกลับมาเริ่มดูอนิเมะอีกครั้ง เพราะช่วงนั้นกระแส Bakemonogatari แรงเหลือเกิน ผมก็เลยลองเอามาดูว่าเป็นยังไงบ้าง ปรากฏว่า ผมก็ได้เรียนรู้ว่า โอ้ อนิเมะสมัยนี้ช่างต่างจากอนิเมะหรือการ์ตูนสมัยก่อนเหลือเกิน ถึงแม้จะต้องยอมรับว่า การเอาประสบการณ์การดูการตูการ์ตูนสมัยเมื่อ 15 ปีก่อนของผมมาเทียบกับอนิเมะอย่าง Bakemonogatari เป็นเรื่องที่เกินไปหน่อย เพราะอย่างน้อย Bake คงจะไม่มีทางได้ฉายในช่อง 9 การ์ตูน ไม่ว่าสมัยก่อนหรือสมัยนี้ก็ตาม

    (ก่อนที่จะหลงประเด็น) สิ่งที่ผมอยากจะเขียนวันนี้ก็คือ การ์ตูนโมเอะและเซอร์วิสเริ่มแพร่หลายในประเทศไทย (หรืออย่างน้อยๆ ก็รอบตัวผม) เมื่อไหร่ ซึ่งเป็นความคิดเห็นและประสบการณ์ส่วนตัว หลายๆ คนอาจจะไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไรนะครับ

    สิ่งแรกที่อยากจะเล่าก็คือ สมัยผมเด็กๆ เส้นแบ่งการ์ตูนผู้ชายและผู้หญิงสมัยก่อนชัดมากๆ เด็กผู้ชายจะไม่มีวันอ่านหรือดูการ์ตูนผู้หญิง การ์ตูนผู้ชายสมัยก่อนก็เช่น เซนต์เซย่า ดราก้อนบอล คินิกุแมน หน้ากากเสือ ซามูไรทรูปเปอร์ การ์ตูนหุ่นยนตร์อีกหลายๆ เรื่องที่นึกหน้าออกแต่นึกชื่อเรื่องไม่ออก ขบวนการเรนเจอร์ห้าสี ตำรวจอวกาศจีบัน และอื่นๆ อีกมากมาย ผมก็เหมือนๆ กับเด็กรุ่นผมคนอื่นๆ ที่นั่งติดตามดูการ์ตูนจากทางทีวีเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากช่อง 9 การ์ตูนยามเช้าตรู่วันเสาร์ อาทิตย์ อาจจะมีซื้อการ์ตูนเป็นเล่มมาอ่านบ้างนิดหน่อย 

    ผมไม่แน่ใจว่ามันเริ่มตั้งแต่สมัยไหนที่ช่อง 9 การ์ตูนเริ่มฉายการ์ตูนในรูปแบบนี้
    1) การ์ตูนตลกสอนใจสำหรับเด็ก (ยกตัวอย่างเช่น โดราเอม่อน อาราเล่)
    2) การ์ตูนเด็กผู้ชาย สุดบู๊ ผมไม่แน่ใจว่า 1 หรือ 2 เรื่อง
    3) การ์ตูนเด็กผู้หญิง 1 เรื่อง
    4) การ์ตูนชะลาล่า ที่ในความรู้สึกของผม มันดังสู้และสนุกการ์ตูนผู้ชายที่ฉายไปก่อนหน้านั้นไม่ได้
    5) ขบวนการ 5 สี ตำรวจอวกาศจีบัน และอะไรประมาณนี้

    จากตารางการฉายนี้สิ่งที่ผมและพี่ชายทำคือ ปิดทีวีและออกไปวิ่งเล่นหลังจากการ์ตูนผู้ชายจบ (2) และอาจจะกลับมาดูการ์ตูนชะลาล่าหรือขบวนการห้าสีต่อ คือ เราจะไม่ดูการ์ตูนผู้หญิง

      ตอนผมอยู่มัธยมช่อง 9 ก็เติมสล็อต (3) นั้นด้วยการ์ตูนเรื่องใหม่คือ เซเลอร์มูน ในขณะที่ผมยังปฏิบัติตัวเหมือนเดิมคือ ปิดทีวี ไม่ดูการ์ตูนผู้หญิง เพื่อนๆ ผู้ชายของผมก็เริ่มโดนล้างสมอง กลายเป็นสาวกเซเลอร์มูนไปทีละคนสองคน โดยพวกเขาก็ติดตามโดยเฉพาะฉากแปลงร่างของเซเลอร์ต่างๆ

     จากข้อสังเกตนี้ทำให้ผมสรุปว่า ถึงแม้ว่าเซเลอร์มูนอาจจะไม่ใช่การ์ตูนเซอร์วิสเรื่องแรก (หรืออาจจะไม่ใช่การ์ตูนเซอร์วิสเลยก็ตาม) แต่เซเลอร์มูนเป็นการ์ตูนที่มีความสำคัญในการทำให้เส้นแบ่งระหว่างการตูนเด็กผู้ชายและการ์ตูนเด็กผู้หญิงนั้นจางลง และผู้ชายก็เริ่มสนใจการ์ตูนผู้หญิงมากขึ้น นำไปสู่การแพร่หลายของการ์ตูนเซอร์วิส การ์ตูนโมเอะ การ์ตูนจิบชา และอื่นๆ ไปอีกเรื่อยๆ (สัญชาติญาณของผมแอบแย้งนิดๆ ว่า มันเริ่มจากตอนที่ช่อง 3 เอา Orange road มาฉาย แต่ผมรู้สึกว่า Orange road มีกลิ่นของการ์ตูนผู้ชายเยอะอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะขวัญใจชาย อายูคาว่า มาโดกะ)

    ไหนๆ ก็ไหนๆ เพื่อไม่ให้บล็อกมีแต่ตัวหนังสือ เราแถมรูปคันจุ๊หนึ่งรูป



ขอขอบคุณฟ้อนท์จากคุณเอย์อิจินะครับ จาก http://www.f0nt.com/ 

6.21.2554

Harvest Moon : Friends of Mineral Town & Harvest Moon : More Friends of Mineral Town (2003)

วันนี้เรามาพูดถึงเกมซีรีย์ Harvest Moon ที่แสนจะโด่งดังกันดีกว่า 



ฉากเปิดรวมตัวละครของ Harvest Moon : Friends of Mineral Town


     ผมได้รู้จักซีรี่ย์ฮาร์เวสมูนหรือเกมปลูกผักของหลายๆ คน ก็หลังจากที่ผมกลับมาเริ่มเล่นเกมอีกครั้ง หลังจากห่างหายจากวงการเกมไปยาวนานตั้งแต่หมดยุคของเครื่องแฟมิคอม (ถึงแม้จะแอบไปนั่งเล่นวินนิ่งอยู่ตามร้านเกมอยู่เนืองๆ) โดยการกลับมาสู่วงการเกมของผมเมื่อประมาณ 5 ปีก่อนนั้น เริ่มต้นจากการชักนำของคันจุ๊ ผู้ที่ซื้อเกมบอยไมโครสีชมพูแปร๋นมาเล่นฆ่าเวลา แล้วเราสองคนก็เริ่มไล่ตามหาเกมของเกมบอยไมโคร (ซึ่งเป็นเกมชุดเดียวกันกับเกมบอยแอดวานซ์นั่นแหละ) มาเล่นกัน และผมก็ไปสะดุดกับเกมเกมนึงในกระบะลดราคานั่นก็คือ เกม Harvest Moon : Friends of Mineral Town และเนื้อหาส่วนใหญ่ของบล็อกตอนนี้ก็จะอ้างอิงจากเกมนี้ (ถึงแม้ผมจะมั่นใจว่าเนื้อหาของฮาร์เวสมูนภาคต่างๆ ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่) เพราะว่าภาคนี้เป็นภาคที่ผมคุ้นเคยมากที่สุดจากการที่ได้นั่งเล่นเอง และนั่งดูคันจุ๊เล่น (อันหลังซะเป็นส่วนใหญ่)


    เรื่องเริ่มต้นด้วยฉากรำลึกความหลังของเด็กหนุ่มที่เคยมาเจอกับลุงเจ้าของฟาร์ม


    ฮาร์เวสมูนเป็นซีรี่ย์เกมที่มีอายุมาจะครบ 15 ปีแล้ว โดยเริ่มต้นออกมาในปี 1996 บนเครื่องซุปเปอร์แฟมิค่อม (หรือ SNES ในยุโรปและอเมริกา) และออกมาลงในเกือบทุกเครื่องคอนโซลของนินเท็นโด้และโซนี่ (ยกเว้นเพลย์สเตชั่น 3) เนื้อหาของเกมเป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กหนุ่ม (หรือเด็กสาวในบางเกม) ออกมาใช้ชีวิตในหมู่บ้านเล็กๆ และหาเลี้ยงตัวเองโดยการทำการเกษตร เก็บเงินเพื่อปรับปรุงพัฒนาฟาร์มไปเรื่อย ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในหมู่บ้าน โดยการพูดคุยและให้ของขวัญแก่ผู้คน และแก่หญิงสาวที่หมายปอง หลังจากความสัมพันธ์ของเขากับหญิงสาวในหมู่บ้านพัฒนาไปเรื่อยๆ เขาก็จะพบเหตุการณ์ต่างๆ กับหญิงสาวคนนั้น หัวใจที่เป็นตัวระบุความสัมพันธ์ของทั้งสองคนเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีสดใสขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายกลายเป็นสีแดง เมื่อเธอพร้อมเขาก็จะให้ขนนกสีฟ้าแก่เธอเพื่อเป็นการขอเธอแต่งงาน ถ้าหญิงสาวไม่ปฏิเสธทั้งสองคนก็จะแต่งงานและมีลูกด้วยกัน และเด็กหนุ่มก็จะทำงานฟาร์มเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวต่อไป


ปุ๊ปปูรีหนึ่งในหญิงสาวในเกม ในตอนเริ่มต้นเกมเธอจะมีหัวใจสีดำ


ลิลเลีย แม่ของปุ๊ปปุรี เสียใจด้วยสำหรับชาวโอบาค่อนทั้งหลาย  ลิลเลียไม่ใช่ตัวละครที่จีบได้ (T __ T)

    นอกจากเนื้อเรื่องหลักที่เล่าให้ฟังข้างบนแล้วตัวเกมยังมีความลับอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นส่วนสนุกอย่างหนึ่งของเกมนี้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราโยนของลงไปในบ่อน้ำจะมีเทพีปรากฏตัวออกมา หรือเราสามารถขุดเหมือง 2 เหมืองที่มีความลึกถึง 255 ชั้น แถมบันไดเหมืองโผล่มาแบบแรนด้อมอีกต่างหาก แต่ของที่พบในเหมืองนั้นก็ควรค่าแก่การขุด หรืองานเทศกาลต่างๆ ที่เราสามารถเข้าร่วมได้ เช่น งานดอกไม้ไฟ แข่งทำอาหาร หรือแข่งฟริสบี้ หรือถ้าเราเอาใบไม้สีต่างๆ (ที่เก็บได้ฟรี) ไปให้เอลฟ์ จนเอลฟ์กลายเป็นเพื่อนเรา พวกเอลฟ์จะมาช่วยงานในฟาร์มเราเยี่ยงทาส ทำให้เรามีเวลาไปจีบหญิงได้เต็มที่


 เอลฟ์ หรือ "ไอ้เจ้าทาสของคันจุ๊"

    อย่างที่พูดไปแล้วว่าฮาร์เวสมูนนั้นมีเวอร์ชั่นที่ผู้หญิงเป็นตัวเอกด้วย เช่นในเวอร์ชั่นเกมบอยแอดวานซ์ก็จะมีภาค Harvest Moon : More Friends of Mineral Town ซึ่งนอกจากเราจะเล่นเป็นเด็กสาวมาจีบหนุ่มๆ แทนแล้ว ในเกมยังมีรายละเอียดบางส่วนที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่นเนื้อเรื่องตอนต้นของเกม ในเวอร์ชั่นผู้ชาย เด็กหนุ่มได้ฟาร์มมรดกจากลุงที่รู้จักกัน แต่เด็กสาวจะเบื่อชีวิตในเมืองและออกมาซื้อฟาร์มเพื่อใช้ชีวิตเป็นเกษตรกร นอกจากนั้นถ้าเล่น More Friends ตอนต้นเรื่อง เราสามารถจ้วงลุงกำนัน (Mayer Thomas) ของหมู่บ้านด้วยอาวุธอะไรก็ได้ไม่ต้องยั้ง ดังรูปข้างล่าง


"ฮัดช่า..........า!!"
    
    สำหรับผมแล้วฮาร์เวสมูนเป็นเกมที่เล่นแล้วให้ประสบการณ์ที่ดีมาก ความลับต่างๆ และเนื้อเรื่องของเกม มันสนุกและคุ้มค่าที่จะเล่น เพราะฉะนั้นผมให้คันจุ๊โชว์เมพแก่เกมนี้


 แหล่งอ้างอิง