6.23.2554

จุดเปลี่ยน (ประมาณปี 1996)

    วันนี้เราจะมาเขียนบล็อกเวิ่นเว้อรำลึกความหลังเกี่ยวกับอนิเมะไปเรื่อยๆ ไอเดียของบล็อกตอนนี้เริ่มมาจากเข้าไปอ่านกระทู้จากเว็บที่คุณก็รู้ว่าเว็บอะไร (หา! ไม่รู้หรอ เว็บนั้นไงเล่า เว็บนั้น) เจอคำถามประมาณว่า การ์ตูนเซอร์วิสเรื่องแรกคือเรื่องอะไร มีคนมาตอบน่าเชื่อมั่ง ไม่น่าเชื่อมั่ง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของคนเขียนคอบร้า เห่าสายฟ้า (ดัชนีชี้วัดความแก่) หรือว่าโดราเอมอน ฯลฯ

    ผมก็มานั่งคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ดู แต่ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่าความแม่นยำของผมในเรื่องอนิเมะต่ำมากๆ เพราะผมห่างเหินจากการนั่งดูอนิเมะไปหลายปี เนื่องจากสาเหตุหลายประการ แต่สาเหตุที่สำคัญที่สุดคือ ผมย้ายบ้านตอนป. 6 ออกมาชานเมืองสุดแสนทุรกันดาร ในที่ที่ไม่สามารถรับช่อง 9 อสมท. ได้ (ถึงแม้จะยังอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ก็เถอะ) เลยทำให้พลาดดูช่อง 9 การ์ตูนไปหลายปี ผมก็เลยแทบจะเลิกดูการ์ตูนเลยนับตั้งแต่นั้น (แต่ว่ายังได้นั่งดูชินจังกับมารุโกะจากช่อง 3 บ้างเป็นครั้งคราว) 

     จนมาเมื่อปีที่แล้ว (2010) ผมพึ่งจะมีโอกาสกลับมาเริ่มดูอนิเมะอีกครั้ง เพราะช่วงนั้นกระแส Bakemonogatari แรงเหลือเกิน ผมก็เลยลองเอามาดูว่าเป็นยังไงบ้าง ปรากฏว่า ผมก็ได้เรียนรู้ว่า โอ้ อนิเมะสมัยนี้ช่างต่างจากอนิเมะหรือการ์ตูนสมัยก่อนเหลือเกิน ถึงแม้จะต้องยอมรับว่า การเอาประสบการณ์การดูการตูการ์ตูนสมัยเมื่อ 15 ปีก่อนของผมมาเทียบกับอนิเมะอย่าง Bakemonogatari เป็นเรื่องที่เกินไปหน่อย เพราะอย่างน้อย Bake คงจะไม่มีทางได้ฉายในช่อง 9 การ์ตูน ไม่ว่าสมัยก่อนหรือสมัยนี้ก็ตาม

    (ก่อนที่จะหลงประเด็น) สิ่งที่ผมอยากจะเขียนวันนี้ก็คือ การ์ตูนโมเอะและเซอร์วิสเริ่มแพร่หลายในประเทศไทย (หรืออย่างน้อยๆ ก็รอบตัวผม) เมื่อไหร่ ซึ่งเป็นความคิดเห็นและประสบการณ์ส่วนตัว หลายๆ คนอาจจะไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไรนะครับ

    สิ่งแรกที่อยากจะเล่าก็คือ สมัยผมเด็กๆ เส้นแบ่งการ์ตูนผู้ชายและผู้หญิงสมัยก่อนชัดมากๆ เด็กผู้ชายจะไม่มีวันอ่านหรือดูการ์ตูนผู้หญิง การ์ตูนผู้ชายสมัยก่อนก็เช่น เซนต์เซย่า ดราก้อนบอล คินิกุแมน หน้ากากเสือ ซามูไรทรูปเปอร์ การ์ตูนหุ่นยนตร์อีกหลายๆ เรื่องที่นึกหน้าออกแต่นึกชื่อเรื่องไม่ออก ขบวนการเรนเจอร์ห้าสี ตำรวจอวกาศจีบัน และอื่นๆ อีกมากมาย ผมก็เหมือนๆ กับเด็กรุ่นผมคนอื่นๆ ที่นั่งติดตามดูการ์ตูนจากทางทีวีเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากช่อง 9 การ์ตูนยามเช้าตรู่วันเสาร์ อาทิตย์ อาจจะมีซื้อการ์ตูนเป็นเล่มมาอ่านบ้างนิดหน่อย 

    ผมไม่แน่ใจว่ามันเริ่มตั้งแต่สมัยไหนที่ช่อง 9 การ์ตูนเริ่มฉายการ์ตูนในรูปแบบนี้
    1) การ์ตูนตลกสอนใจสำหรับเด็ก (ยกตัวอย่างเช่น โดราเอม่อน อาราเล่)
    2) การ์ตูนเด็กผู้ชาย สุดบู๊ ผมไม่แน่ใจว่า 1 หรือ 2 เรื่อง
    3) การ์ตูนเด็กผู้หญิง 1 เรื่อง
    4) การ์ตูนชะลาล่า ที่ในความรู้สึกของผม มันดังสู้และสนุกการ์ตูนผู้ชายที่ฉายไปก่อนหน้านั้นไม่ได้
    5) ขบวนการ 5 สี ตำรวจอวกาศจีบัน และอะไรประมาณนี้

    จากตารางการฉายนี้สิ่งที่ผมและพี่ชายทำคือ ปิดทีวีและออกไปวิ่งเล่นหลังจากการ์ตูนผู้ชายจบ (2) และอาจจะกลับมาดูการ์ตูนชะลาล่าหรือขบวนการห้าสีต่อ คือ เราจะไม่ดูการ์ตูนผู้หญิง

      ตอนผมอยู่มัธยมช่อง 9 ก็เติมสล็อต (3) นั้นด้วยการ์ตูนเรื่องใหม่คือ เซเลอร์มูน ในขณะที่ผมยังปฏิบัติตัวเหมือนเดิมคือ ปิดทีวี ไม่ดูการ์ตูนผู้หญิง เพื่อนๆ ผู้ชายของผมก็เริ่มโดนล้างสมอง กลายเป็นสาวกเซเลอร์มูนไปทีละคนสองคน โดยพวกเขาก็ติดตามโดยเฉพาะฉากแปลงร่างของเซเลอร์ต่างๆ

     จากข้อสังเกตนี้ทำให้ผมสรุปว่า ถึงแม้ว่าเซเลอร์มูนอาจจะไม่ใช่การ์ตูนเซอร์วิสเรื่องแรก (หรืออาจจะไม่ใช่การ์ตูนเซอร์วิสเลยก็ตาม) แต่เซเลอร์มูนเป็นการ์ตูนที่มีความสำคัญในการทำให้เส้นแบ่งระหว่างการตูนเด็กผู้ชายและการ์ตูนเด็กผู้หญิงนั้นจางลง และผู้ชายก็เริ่มสนใจการ์ตูนผู้หญิงมากขึ้น นำไปสู่การแพร่หลายของการ์ตูนเซอร์วิส การ์ตูนโมเอะ การ์ตูนจิบชา และอื่นๆ ไปอีกเรื่อยๆ (สัญชาติญาณของผมแอบแย้งนิดๆ ว่า มันเริ่มจากตอนที่ช่อง 3 เอา Orange road มาฉาย แต่ผมรู้สึกว่า Orange road มีกลิ่นของการ์ตูนผู้ชายเยอะอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะขวัญใจชาย อายูคาว่า มาโดกะ)

    ไหนๆ ก็ไหนๆ เพื่อไม่ให้บล็อกมีแต่ตัวหนังสือ เราแถมรูปคันจุ๊หนึ่งรูป



ขอขอบคุณฟ้อนท์จากคุณเอย์อิจินะครับ จาก http://www.f0nt.com/ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น